ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดพุ่ง 263.28 จุด ขานรับแนวโน้มเฟดอาจลดดอกเบี้ยเร็วๆ นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 8, 2019 06:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐ นอกจากนี้ แนวโน้มความคืบหน้าด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และเม็กซิโก ช่วยหนุนตลาดขึ้นด้วย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,983.94 จุด พุ่งขึ้น 263.28 จุด หรือ +1.02% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,873.34 จุด เพิ่มขึ้น 29.85 จุด หรือ +1.05% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,742.10 จุด เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 126.55 จุด หรือ +1.66%

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 75,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าระดับ 224,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 เดือนที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 100,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เช่นเดียวกันในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานลดลงสู่ระดับ 3.1%

ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค. โดยปรับเป็น เพิ่มขึ้น 153,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า เพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย. โดยปรับเป็น เพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า เพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุยังระบุด้วยว่าในเดือนพ.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 90,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 15,000 ตำแหน่ง

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดกำลังจับตามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจในขณะนี้ และจะดำเนินการในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ เฟดจะประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 มิ.ย. ขณะที่ FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 79% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค. และมีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. รวมถึงมีโอกาสมากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.

ตลาดยังพุ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและเม็กซิโกด้วย หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) แถลงว่า สหรัฐได้เลื่อนกำหนดเวลาในการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน จากวันที่ 1 มิ.ย. เป็นวันที่ 15 มิ.ย.

นอกจากนี้ สื่อรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอาจจะเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก ในขณะที่การเจรจาของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐรายหนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า แม้มีความเป็นไปได้ว่าคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกในอัตรา 5% ในวันจันทร์ที่ 10 มิ.ย.ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวอาจถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากสหรัฐเล็งเห็นว่า เม็กซิโกมีความพยายามอย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลของปธน.ทรัมป์

เจ้าหน้าที่สหรัฐยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกในอัตรา 5% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มิ.ย. แต่หากเม็กซิโกดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่จะสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ การเก็บภาษีดังกล่าวก็จะเป็นการดำเนินการเพียงชั่วคราวเท่านั้น

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และ กลุ่มผู้ผลิตชิพ พุ่งขึ้น โดยหุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2.66% หุ้นเฟซบุ๊ก ดีดขึ้น 2.98% หุ้นอเมซอน เพิ่มขึ้น 2.83% หุ้นอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล เพิ่มขึ้น 1.97% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ บวก 1.05% หุ้นอินเทล เพิ่มขึ้น 2.06% หุ้นควอลคอมม์ บวก 1.63% และ หุ้น Nvidia ปรับตัวขึ้น 1.20%

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย และ หุ้นกลุ่มปลอดภัย อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภค ปรับตัวลง โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ลบ 1.26% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ลดลง 1.71% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับตัวลง 1.10% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ลบ 0.63% และ หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ลดลง 1.10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ