ดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งเกือบ 100 จุด บ่งชี้วอลล์สตรีทดีดตัวคืนนี้ ขานรับเฟดส่งสัญญาณลดดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 12, 2019 20:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นเกือบ 100 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะยังคงดีดตัวขึ้นในคืนนี้ ขานรับการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนนี้

ณ เวลา 19.56 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 86 จุด หรือ 0.32% สู่ระดับ 27,163 จุด

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นวานนี้ทะลุระดับ 27,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวแถลงการณ์ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา โดยเขายังคงส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ เช่นเดัยวกับที่ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธ

นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยลบหลายประการ เช่น ความตึงเครียดทางการค้า และความวิตกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังถ่วงแนวโน้มเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า การลงทุนของภาคธุรกิจในสหรัฐได้ชะลอตัวลงในระยะนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ที่ระดับ 2%

นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์มากขึ้นว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค. หลังจากที่นายพาวเวลส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้

ทั้งนี้ ในการสำรวจล่าสุด พบว่า FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค. โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 77.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.25-2.50% และมีโอกาส 22.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 93% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% และมีโอกาสเพียง 7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%

หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. ตามการคาดการณ์ ก็จะถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของเฟดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี โดยเฟดไม่เคยดำเนินการดังกล่าวนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2551

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้นเพียง 1.7% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2560 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนพ.ค.

ดัชนี PPI ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงเป็นเดือนที่ 2 ของราคาพลังงาน แม้ว่าค่าใช้จ่ายในภาคบริการปรับตัวขึ้น

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI จะทรงตัวในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบรายปี

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ ทรงตัวในเดือนมิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ติดต่อกัน 2 เดือน

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ