ดาวโจนส์ร่วงต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งกว่า 100 จุด นักลงทุนกังวลผลประกอบการวูบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 18, 2019 22:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดดิ่งลงกว่า 100 จุด โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนกังวลต่อการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ณ เวลา 22.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 27,095.08 จุด ลบ 124.77 จุด หรือ 0.46%

ราคาหุ้นเน็ตฟลิกซ์ร่วงลงกว่า 10% หลังรายงานจำนวนลูกค้าลดลงในสหรัฐ ขณะที่ลูกค้าในต่างประเทศขยายตัวต่ำกว่าคาด แม้บริษัทเปิดเผยตัวเลขกำไรในไตรมาส 2 ที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ส่วนหุ้น IBM ปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากที่บริษัทเปิดเผยรายได้ลดลงเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน

ขณะนี้ มีบริษัทมากกว่า 12% ของดัชนี S&P 500 ที่ได้ประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ราว 84% ได้รายงานตัวเลขกำไรสูงกว่าคาด

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีผลประกอบการลดลง 3% ในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงของผลประกอบการรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 3 ปี

นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐและจีนจะเจรจาการค้าในวันนี้ ผ่านทางการสนทนาทางโทรศัพท์

"ผมและคุณไลท์ไฮเซอร์มีกำหนดโทรคุยกับเจ้าหน้าที่จีนในวันนี้ โดยเป็นการสนทนาครั้งที่ 2 ของเรา หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเจรจาในระดับคณะทำงาน" นายมนูชินกล่าว

"เรากำลังทำงานภายใต้การกำหนดทิศทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจากการประชุมที่นครโอซากา และเราจะดูว่ามีความคืบหน้ามากแค่ไหน" เขากล่าว

นายมนูชินยังระบุว่า หากการเจรจาวันนี้เป็นไปด้วยดี เขาก็คาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเดินทางมาพบกัน เพื่อทำการเจรจาครั้งใหม่

นายมนูชินกล่าวว่า เรื่องของหัวเว่ยไม่ใช่ข้อขัดแย้งหลักของการเจรจา แต่เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงมีประเด็นที่ซับซ้อนที่ต้องเจรจากันอีกมาก

นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์มากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค.

ทั้งนี้ ในการสำรวจล่าสุด พบว่า FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค. โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 65.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.25-2.50% และมีโอกาส 34.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 93% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% และมีโอกาสเพียง 7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว สู่ระดับ 111.5 หลังจากทรงตัวในเดือนพ.ค. และเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย.

Conference Board ระบุว่า ดัชนี LEI ที่ปรับตัวลง ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิต, การอนุญาตสร้างบ้าน และการเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึง คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, ราคาหุ้น และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

ทางด้านเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 21.8 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0 หลังจากแตะระดับ 0.3 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.

ดัชนีดีดตัวสูงกว่าระดับ 0 บ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคธุรกิจ โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 216,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 250 ราย สู่ระดับ 218,750 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ค. มีจำนวนลดลง 42,000 ราย สู่ระดับ 1.69 ล้านราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 5,000 ราย สู่ระดับ 1.70 ล้านราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ