ดาวโจนส์พลิกร่วงแดนลบ นักลงทุนลดคาดการณ์เฟดลดดบ. 0.50% ขณะจับตาผลประกอบการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 22, 2019 22:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงแดนลบ หลังเปิดตลาดปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนนี้ ขณะจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากในสัปดาห์นี้

ณ เวลา 22.43 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 27,138.69 จุด ลบ 15.51 จุด หรือ 0.06%

ทั้งนี้ บริษัทจำนวนมากกว่า 25% ในดัชนี S&P 500 จะรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ แมคโดนัลด์ และโบอิ้ง รวมถึงบริษัทในกลุ่ม FANG ซึ่งได้แก่ เฟซบุ๊ก อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล

ขณะนี้ บริษัทจำนวนมากกว่า 15% ของดัชนี S&P 500 ได้ประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ราว 79% ได้รายงานตัวเลขกำไรสูงกว่าคาด

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีผลประกอบการลดลง 3% ในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงของผลประกอบการรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 3 ปี

นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในสัปดาห์หน้า

นักลงทุนลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของเฟดในเดือนนี้ หลังการกล่าวถ้อยแถลงของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งส่งสัญญาณว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมเดือนนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสเพียง 24.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค.

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของเฟด สู่ระดับเกือบ 70% หลังจากที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของ Central Bank Research Association โดยระบุว่า เฟดควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว โดยเน้นย้ำว่า การใช้มาตรการป้องกันเอาไว้ก่อนที่จะเกิดหายนะนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดีกว่า และเมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้ เฟดควรจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและจริงจัง ซึ่งตลาดตีความว่า การกล่าวถ้อยแถลงของนายวิลเลียมส์เป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนนี้

อย่างไรก็ดี นักลงทุนลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของเฟด หลังจากที่เฟดสาขานิวยอร์กออกมาชี้แจงในภายหลังว่า การกล่าวสุนทรพจน์ของนายวิลเลียมส์ เป็นเพียงการกล่าวในเชิงวิชาการ บนพื้นฐานของการวิจัยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้เป็นการบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในวันที่ 30-31 ก.ค.แต่อย่างใด

ราคาหุ้นโบอิ้งดิ่งลงกว่า 1% ในวันนี้ หลังจากที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของทางบริษัทสู่ "negative" จากเดิมที่ "stable"

ฟิทช์ระบุว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวมีสาเหตุจากความไม่แน่นอนต่อกำหนดเวลาที่หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบจะอนุมัติให้เครื่องบิน 737 MAX กลับมาให้บริการอีกครั้ง

ฟิทช์ระบุว่า เครื่องบิน 737 MAX จะยังคงสร้างความวิตกต่ออุตสาหกรรมการบินในปีหน้า และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโบอิ้งต่อไปอีกหลายปี หลังจากเครื่องบินรุ่นดังกล่าวกลับมาให้บริการอีกครั้ง

ฟิทช์ยังเตือนว่า โบอิ้งจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ใกล้แตะระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้

ทั้งนี้ เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ประสบอุบัติเหตุตกในอินโดนีเซียในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว และในเอธิโอเปียเมื่อเดือนมี.ค.ปีนี้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 คน

ทางด้านแหล่งข่าวระบุว่า ทำเนียบขาวและสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสใกล้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณแล้ว ซึ่งจะทำให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐเป็นเวลา 2 ปี

ขณะนี้ สมาชิกสภาคองเกรส และฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการผ่านกฎหมายงบประมาณรายจ่ายฉบับใหม่ และเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุมภาคฤดูร้อนในวันที่ 26 ก.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ครั้งใหม่

นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลและสภาคองเกรสกำลังร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ และเขามีความเชื่อมั่นว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อให้สหรัฐจะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้

"ผมไม่คิดว่าตลาดจะต้องมาวิตกในเรื่องนี้ โดยทุกคนเห็นตรงกันว่า เราไม่ควรทำให้รัฐบาลเกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และเราคิดว่าไม่มีใครอยากให้เกิดภาวะชัตดาวน์" นายมนูชินกล่าว

นายมนูชินเตือนว่า กระทรวงการคลังมีงบประมาณสำหรับการบริหารประเทศอีกเพียง 2 เดือน จนถึงเดือนก.ย. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 22 ล้านล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ