ดาวโจนส์พลิกร่วง วิตกศก.ถดถอย หลังเกิด inverted yield curve,ภาคผลิตสหรัฐหดตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 22, 2019 22:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงลงในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ โดยตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่มีการเปิดเผยข้อมูลแสดงว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี

ณ เวลา 22.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,132.60 จุด ลบ 70.13 จุด หรือ 0.27%

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 150 จุดในช่วงแรก โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 2 ท่ามกลางความคาดหวังที่ว่า นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟด

ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ดีดตัวขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ครั้งนี้นับเป็นการเกิด inverted yield curve เป็นครั้งที่ 3 ในรอบไม่ถึง 2 สัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่า มาตรการของเฟดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจช้าเกินไปที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลแสดงว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี

ณ เวลา 21.20 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.60% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ขยับขึ้นสู่ระดับ 1.598% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.084%

ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปีในเดือนส.ค. ขณะที่สงครามการค้ากำลังส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552

มาร์กิตเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ยอดขายจากการส่งออกร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2552

นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังคงลดจำนวนสินค้าในสต็อก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์ในอนาคต

นายทิม มัวร์ นักวิเคราะห์ของมาร์กิต ระบุว่า บริษัทในภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และตัวเลขในเดือนส.ค.เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงในไตรมาส 3

ทั้งนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากแตะระดับ 52.6 ในเดือนก.ค.

การปรับตัวลงของดัชนี PMI ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่การจ้างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2553 ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงเป็นเดือนที่ 7 แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2555

ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว ขณะที่การขยายตัวของภาคบริการ ช่วยชดเชยผลกระทบจากการหดตัวของภาคการผลิต

ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 49.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 119 เดือน จากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 50.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 53.0 ในเดือนก.ค. แต่ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

ทั้งนี้ การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้ โดยจะมีประธานเฟดจากสาขาต่างๆขึ้นกล่าวสุนทรพจน์

อย่างไรก็ดี นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า นายพาวเวลจะใช้เวทีการประชุมดังกล่าว ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.

ขณะนี้ ตลาดการเงินเพิ่มคาดการณ์สู่ระดับเกือบ 100% ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ย.

สำหรับการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ในปีนี้ จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. ภายใต้หัวข้อ "ความท้าทายสำหรับนโยบายการเงิน" หรือ Challenges for Monetary Policy และการประชุมในครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้เฟดเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดของเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. ปธน.ทรัมป์ได้แสดงความไม่พอใจที่นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมวันดังกล่าว

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 216,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 500 ราย สู่ระดับ 214,500 รายในสัปดาห์ที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ