ดาวโจนส์ร่วงต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งกว่า 200 จุด กังวลคองเกรส-ทำเนียบขาวเจรจาล่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 31, 2020 23:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุดในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด

ณ เวลา 23.34 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,091.76 จุด ลบ 221.89 จุด หรือ 0.84%

นักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างสภาคองเกรสและทำเนียบขาวเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งรวมถึงการขยายโครงการช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งจะหมดอายุในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวงเงินที่จะให้ความช่วยเหลือคนว่างงาน โดยพรรคเดโมแครตต้องการให้รักษาวงเงินดังกล่าวไว้ที่ระดับ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 72.5 ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.7 จากระดับ 78.1 ในเดือนมิ.ย.

ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลง โดยถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 5.5% หลังจากพุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนพ.ค.

การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลง 12.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2502

การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปิดร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก และฉุดอุปสงค์ในการใช้จ่ายสินค้า

รายได้ส่วนบุคคลลดลง 1.1% ในเดือนมิ.ย. หลังจากดิ่งลง 4.2% ในเดือนพ.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ารายได้ส่วนบุคคลจะลดลง 0.5% ในเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ