ดาวโจนส์ร้อนแรง พุ่งกว่า 400 จุดทำนิวไฮ ขานรับจ้างงานแกร่ง,ภาคบริการสดใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 5, 2021 22:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 400 จุด แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ขานรับตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ของดัชนีภาคบริการของสหรัฐ

ณ เวลา 22.44 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,563.00 จุด บวก 409.79 จุด หรือ 1.24%

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปิดทำการเมื่อวันศุกร์ เนื่องในวัน Good Friday

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ พุ่งขึ้น 916,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2563 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 647,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงาน ลดลงสู่ระดับ 6.0% ในเดือนมี.ค. จาก 6.2% ในเดือนก.พ.

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 63.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 55.3 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 59.0

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ท่ามกลางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นในเดือนมี.ค.

ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

ขณะเดียวกัน ดัชนีดาวโจนส์ยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างงานจำนวนหลายล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง โดยข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า สหรัฐสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านคน/วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.5% หลังจากพุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนม.ค.

คำสั่งซื้อภาคโรงงานได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการผลิตในโรงงาน

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ.

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน ลดลง 0.9% ในเดือนก.พ. โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวถือเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำเดือนมี.ค. ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในวันพุธ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 16-17 มี.ค. และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 และ 2565 สู่ระดับ 6.5% และ 3.3% ตามลำดับ ขณะที่เฟดให้คำมั่นเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ