ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,369.09 จุด ลดลง 74.73 จุด หรือ -0.21% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,535.43 จุด ลดลง 1.52 จุด หรือ -0.03% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,363.52 จุด เพิ่มขึ้น 32.34 จุด หรือ +0.21%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.2% ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.6% และ 1.6% ตามลำดับ
หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดลบ นำโดยกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งลดลง 0.8% ขณะที่หุ้นบวกนำโดยกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเพิ่มขึ้น 0.38%
ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ปรับตัวลงเล็กน้อยก่อนวันหยุดยาวของสหรัฐในสุดสัปดาห์นี้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 6 ก.ย. เนื่องในวันแรงงาน
ส่วนดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นแอปเปิล, อัลฟาเบท และเฟซบุ๊ก บวก 0.3-0.4%
ตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดันหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 720,000 ตำแหน่ง หลังจากพุ่งขึ้น 1,053,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.2% ในเดือนส.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากแตะระดับ 5.4% ในเดือนก.ค.
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้ในการพิจารณาว่าจะเริ่มประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้หรือไม่
หุ้นกลุ่มผู้ประกอบการเรือสำราญ อาทิ หุ้นนอร์วีเจียน ครูซ ไลน์ โฮลดิ้งส์, หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป และหุ้นรอยัล แคริบเบียน ครูซ ปรับตัวลง 3.4-4.4%
หุ้นกลุ่มการผลิตและกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ลดลง 0.7% และ 0.6% ตามลำดับ
หุ้นกลุ่มธนาคาร ปรับตัวลง 0.4% แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐพุ่งขึ้นหลังการรายงานตัวเลขจ้างงานก็ตาม
ทั้งนี้ ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างไร้ทิศทางท่ามกลางมุมมองที่แตกต่างกันของนักลงทุนหลังจากการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานของสหรัฐ โดยนักลงทุนบางส่วนผิดหวังกับตัวเลขจ้างงานดังกล่าว เนื่องจากมองว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงอ่อนแอ และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่นักลงทุนอีกส่วนหนึ่งมองมุมบวกว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดดังกล่าว จะทำให้เฟดยังไม่เร่งประกาศปรับลดวงเงิน QE โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวย้ำก่อนหน้านี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐจะต้องแข็งแกร่งขึ้นก่อนที่เฟดจะพิจารณาปรับลดวงเงิน QE
ส่วนการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีส่วนกดดันตลาดได้แก่ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 61.7 ในเดือนส.ค. จากระดับ 64.1 ในเดือนก.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 61.5 ส่วนไอเอชเอส มาร์กิตซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ธ.ค. 2563 จากระดับ 59.9 ในเดือนก.ค.