ดาวโจนส์ร้อนแรงพุ่งกว่า 600 จุด คลายกังวลเอเวอร์แกรนด์,ขานรับผลประชุมเฟด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 24, 2021 00:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 600 จุด โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 2 ขานรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวานนี้

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน

ณ เวลา 00.45 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,864.59 จุด บวก 606.27 จุด หรือ 1.77%

การทะยานขึ้นในวันนี้ทำให้ดัชนีทั้ง 3 ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพลิกกลับมาเป็นบวก เมื่อพิจารณาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยดัชนีดาวโจนส์บวก 0.7%, ดัชนี S&P 500 บวก 0.6% และดัชนี Nasdaq บวก 0.2%

หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่างดีดตัวขึ้นในการซื้อขายวันนี้

ทั้งนี้ เฟดไม่ได้ระบุไทม์ไลน์ที่ชัดเจนในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยส่งสัญญาณเพียงว่าจะปรับลด QE ในไม่ช้านี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดยังไม่เร่งถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงินซึ่งเฟดได้นำมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ หลังจากที่ธนาคารกลางจีนอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าตลาด

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำ

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานวันนี้ว่า ทางการจีนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีนเตรียมรับมือการล้มละลายของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ปที่อาจเกิดขึ้น

คำเตือนดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจีนไม่มีความประสงค์ที่จะเข้ากอบกู้กิจการของเอเวอร์แกรนด์ แต่จะเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของจีน หากเอเวอร์แกรนด์ต้องประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางการจีนได้แจ้งให้เอเวอร์แกรนด์ชำระหนี้หุ้นกู้สำหรับนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในวันนี้ โดยมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินหยวนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย.2568 รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์ยังมีดอกเบี้ยที่รอการชำระอีกในวันที่ 29 ก.ย.จำนวน 47.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567

หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ตามกำหนด ทางบริษัทก็จะมีเวลาอีก 30 วันหลังวันครบกำหนดชำระเพื่อหาทางจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะถูกประกาศว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้

ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เอเวอร์แกรนด์ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ต่อธนาคารเจ้าหนี้อย่างน้อย 2 แห่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

นอกจากนี้ เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 16,000 ราย สู่ระดับ 351,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 320,000 ราย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 335,750 ราย โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 181,000 ราย สู่ระดับ 2.84 ล้านราย

นอกจากนี้ ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลงสู่ระดับ 2.8 ล้านราย

ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.5 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 55.4 ในเดือนส.ค.

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากภาวะตึงตัวของอุปทาน รวมทั้งการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้น

ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ