ดาวโจนส์ปรับฐานแรง ร่วงกว่า 300 จุด หลังทะยานสัปดาห์ที่แล้ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 4, 2021 21:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดดิ่งลงกว่า 300 จุด โดยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพักฐานในคืนนี้ หลังจากทะยานขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว

ณ เวลา 21.42 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,021.49 จุด ลบ 304.97 จุด หรือ 0.89%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงกว่า 2% ในวันนี้ โดยถูดกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นสวนทางตลาด ขานรับคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล/วันในการประชุมวันนี้ แม้ว่าหลายประเทศกดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าจำนวนดังกล่าวเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในขณะนี้

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นเกือบ 500 จุดเมื่อวันศุกร์ ขานรับประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน

ข้อมูลจาก "Stock Trader's Almanac" ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักฟื้นตัวขึ้นในเดือนต.ค. และปรับตัวขึ้นจนถึงสิ้นปี โดยเดือนต.ค.ถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงขาขึ้นตามฤดูกาลของราคาหุ้น ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้นเฉลี่ย 0.8% ในเดือนต.ค. ก่อนที่จะพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ย. และ 1.5% ในเดือนธ.ค.

อย่างไรก็ดี สำหรับไตรมาส 4 ในปีนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเผชิญการปรับฐานจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้, ความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ราคาหุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ยังคงร่วงลงในวันนี้ ต่อเนื่องจากที่ดิ่งลงในวันศุกร์ หลังมีการเปิดเผยประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19

ส่วนราคาหุ้นบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้นเกือบ 3% ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีรายได้มหาศาลจากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกในขณะนี้

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%

แม้ว่าขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มเจรจาเพื่อสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว ซึ่งรวมถึงไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร

ทางด้านสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส หรือ 68 ล้านเม็ด วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 23,000 บาท โดยมีราคาราวเม็ดละ 600 บาท

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

เมอร์คได้เริ่มผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายยาดังกล่าวสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท

ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้ในการพิจารณาการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 450,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ