ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ไหลไม่หยุด ล่าสุดทรุดกว่า 400 จุด กังวลวัคซีนเอาไม่อยู่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 30, 2021 20:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 400 จุด บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปรับตัวลงในคืนนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

ณ เวลา 20.02 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 420 จุด หรือ 1.20% สู่ระดับ 34,657 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนยืนยันว่า สหรัฐไม่มีแผนล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากตลาดร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว

หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสายการบิน และกลุ่มธุรกิจเรือสำราญ ต่างร่วงลงในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดวันนี้

นายสเตฟาน บันเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ ระบุว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน พร้อมกับเตือนว่า บรรดาบริษัทเวชภัณฑ์อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะสามารถผลิตวัคซีนสูตรใหม่ที่จะป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างเพียงพอ

สำนักข่าวหลายแห่งได้ทำการเผยแพร่ล่วงหน้าสำหรับร่างแถลงการณ์ที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เตรียมกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย ก่อนที่จะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ นายพาวเวลและนางเยลเลนมีกำหนดเข้ารายงานต่อสภาคองเกรสในทุกไตรมาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งบังคับใช้ในเดือนมี.ค.2563 โดยรายงานดังกล่าวครอบคลุมถึงโครงการปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินของเฟดด้วย

สื่อรายงานว่านายพาวเวลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 5% ในปีนี้ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะกระทบต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

"เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์สถานการณ์เงินเฟ้อและผลกระทบด้านอุปทานว่าจะยืดเยื้อเพียงใด แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ก็คือเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นไปจนถึงปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดแรงงานที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และค่าแรงที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเช่นกัน"

"ความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน จะทำให้ประชาชนไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดแรงงานชะลอตัวลง และเพิ่มปัญหาชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน" แถลงการณ์ระบุ

นายพาวเวลยังกล่าวว่า ภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานซึ่งมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลมาจากราคาที่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในบางรายการ โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ดีดตัวขึ้น 5% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายปี

ขณะเดียวกัน นางเยลเลนจะระบุเตือนว่าความล้มเหลวของสภาคองเกรสในการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในเวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 581,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง จากระดับ 312,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.6% โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.8% ในเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ