ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าร่วง จับตาประชุมเฟด-สถานการณ์โควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 25, 2022 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าร่วงลง โดยถูกกดดันจากภาวะการซื้อขายที่ผันผวนอย่างหนักในตลาดหุ้นนิวยอร์กในวันจันทร์ โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,000 จุดในระหว่างวันก่อนกลับมาปิดแดนบวก เนื่องจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการใช้มาตรการที่เข้มงวด และสร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบ

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 27,027.23 จุด ร่วงลง 561.14 จุด หรือ -2.03%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 24,351.38 จุด ลดลง 305.08 จุด หรือ -1.24% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,484.80 จุด ลดลง 39.31 จุด หรือ -1.12%

ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาค โดยล่าสุด สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะตัดสินใจขยายการประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินครอบคลุม 34 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มอีก 18 จังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค. ถึง 20 ก.พ.

ทั้งนี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น คาดว่าจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในวันนี้ รวมถึงการตัดสินใจขยายระยะเวลาการประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินสำหรับจังหวัดโอกินาว่า ยามากูชิ และฮิโรชิมะ ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. เป็นสิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. จากเดิมที่ 31 ม.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูผลการประชุมเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธที่ 26 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่วันของพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.ตามเวลาไทย ขณะที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของออสเตรเลียในไตรมาส 4/2564 ปรับตัวขึ้นรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงและที่อยู่อาศัยส่งผลต่อแรงกดดันด้านราคาในวงกว้าง ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น

รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 1.3% ในไตรมาส 4/2564 และทั้งปี 2564 ปรับตัวขึ้น 3.5% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.0% ในไตรมาส 4/2564 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 และทั้งปี 2564 ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.6% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.3% และอยู่ระหว่างเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับ 2-3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ