ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ทะยานกว่า 200 จุด หลังมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเบากว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 23, 2022 20:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ขณะที่นักลงทุนรับรู้ข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนไปพอสมควรแล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตยูเครน หลังสหรัฐและชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเบากว่าที่คาดไว้

ณ เวลา 20.24 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 235 จุด หรือ 0.7% สู่ระดับ 33,759 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 500 จุดวานนี้ โดยหุ้นปรับตัวลงทุกกลุ่ม หลังจากที่วุฒิสภารัสเซียมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถใช้กองทัพรัสเซียออกปฏิบัติการนอกประเทศเพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

ทั้งนี้ สหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่น ต่างก็ได้ออกมาตรการตอบโต้รัสเซียด้วยการคว่ำบาตรธนาคารบางแห่ง และนักธุรกิจบางราย ขณะที่เยอรมนีประกาศระงับการอนุมัติโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 เป็นการชั่วคราว

"มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่เหมือนเป็นการเตือนมากกว่า" นายโรเบิร์ต ปาฟลิก ผู้จัดการพอร์ทโฟลิโอของดาโกตา เวลท์กล่าว

ด้านนายอีเลม เซนยุซ นักกลยุทธ์ด้านมหภาคของบริษัท Truist ออกรายงานแนะนำให้นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นในขณะนี้ เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นมักดีดตัวขึ้น หลังจากร่วงลงจากเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เว้นแต่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

นายเซนยุซระบุว่า ความเสี่ยงในระยะใกล้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่แนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในขณะนี้

"แม้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่สถิติบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตการณ์ทางทหารมีแนวโน้มที่จะทำให้ตลาดเกิดความผันผวน และมักทำให้ตลาดปรับตัวลงในระยะสั้น แต่ตลาดหุ้นก็มักจะดีดตัวขึ้นมาได้ในที่สุด นอกจากว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย" รายงานระบุ

รายงานยังระบุว่า ราคาพลังงานและสินค้าเกษตรที่พุ่งขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจยุโรป แต่สหรัฐจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าในอดีต เนื่องจากมีแหล่งพลังงานภายในประเทศ ดังนั้นบริษัท Truist จึงยังคงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐมากกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ

นอกจากนี้ นายเซนยุซเปิดเผยว่า จากการติดตามผลสำรวจความเชื่อมั่นของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกัน (AAII) พบว่า ความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ มักตามมาด้วยการดีดตัวขึ้นของดัชนี S&P 500 มากกว่า 90% ของช่วงเวลาในระยะ 3-12 เดือนข้างหน้า

นักลงทุนยังคงจับตาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ ซึ่งอาจเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.

ขณะเดียวกัน ตลาดจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะแถลงต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2-3 มี.ค. โดยอาจเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินต่อสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมหลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่วัน

ทั้งนี้ นายพาวเวลจะแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันที่ 2 มี.ค. และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 3 มี.ค. โดยการแถลงทั้งสองวันจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ