ดาวโจนส์ไหลไม่หยุด ล่าสุดดิ่งกว่า 200 จุด กังวลเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 11, 2022 00:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ณ เวลา 00.05 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 29,035.73 จุด ลบ 261.06 จุด หรือ 0.89%

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 600 จุดในวันศุกร์ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงเกินคาด ทำให้นักลงทุนวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ

นายไดมอนกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงดูดีในขณะนี้ และผู้บริโภคยังคงมีสถานะที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก แต่การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ, การดีดตัวของอัตราดอกเบี้ย และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 6-9 เดือนต่อจากนี้ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปได้ถดถอยแล้ว

นายไดมอนกล่าวว่า เขาไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าภาวะถดถอยดังกล่าวจะกินเวลานานเท่าใด แต่สิ่งที่เขาแน่ใจคือปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความผันผวนในตลาด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่าจะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, การแพร่ระบาดของโควิด-19, การที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเศรษฐกิจในทุกทวีป

ก่อนหน้านี้ ในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในเดือนก.ค. IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 สู่ระดับ 3.2% และ 2.9% ตามลำดับ

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF และนายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก กล่าวเตือนในวันนี้ว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า ขณะที่เงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครนในเดือนก.พ.

"มีความเสี่ยงและอันตรายอย่างแท้จริงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า" แถลงการณ์ร่วมจากนางจอร์เจียวาและนายมัลพาสระบุ ก่อนการประชุมประจำปีแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่าง IMF และธนาคารโลกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ นายมัลพาสแสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้น

ด้านนางจอร์เจียวากล่าวว่า IMF จะเน้นย้ำในการประชุมสัปดาห์นี้ให้ธนาคารกลางของชาติต่างๆยังคงใช้ความพยายามสกัดเงินเฟ้อต่อไป แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

"ถ้าพวกเขาดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ เราก็จะเผชิญปัญหาจากเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยิ่งต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นางจอร์เจียวากล่าว

นอกจากนี้ นางจอร์เจียวาระบุว่า การใช้มาตรการทางการคลังควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการเติม "เชื้อเพลิงเข้าสู่กองไฟแห่งเงินเฟ้อ"

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนก.ย.ในวันที่ 12 ต.ค. และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหาสิ่งบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ