ดาวโจนส์ผันผวนแกว่งตัวบวกลบ จับตาเงินเฟ้อศุกร์นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 19, 2022 23:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์แกว่งตัวผันผวน โดยปรับตัวในแดนบวกสลับแดนลบ หลังจากดิ่งลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว

ณ เวลา 23.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,836.35 จุด ลบ 84.11 จุด หรือ 0.26%

ราคาหุ้นของบริษัทเทสลา อิงค์ ดีดตัวขึ้นหลังมีรายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ลงมติให้นายอีลอน มัสก์ ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัททวิตเตอร์

"หากนายมัสก์ออกจากตำแหน่งซีอีโอของทวิตเตอร์จะถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นของเทสลา เพราะมัสก์คือเทสลา และเทสลาคือมัสก์" นายแดน ไอเวส นักวิเคราะห์จาก Wedbush กล่าว

ก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นเทสลาดิ่งลงเกือบ 60% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ท่ามกลางปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากลงมติให้นายอีลอน มัสก์ ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัททวิตเตอร์ หลังจากที่นายมัสก์เปิดโอกาสให้สมาชิกโหวตแสดงความเห็นว่าเขาควรอยู่ในตำแหน่งหรือไม่

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ใช้บริการทวิตเตอร์ 57.5% ลงมติให้นายมัสก์ออกจากตำแหน่ง ขณะที่ 42.5% หนุนให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นมากกว่า 17.5 ล้านคน

นายมัสก์จัดทำการสำรวจเมื่อวานนี้ และยืนยันว่าเขาจะปฏิบัติตามผลการโหวตของสมาชิกทวิตเตอร์

อย่างไรก็ดี นายมัสก์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าเขาจะลาออกเมื่อใด หากผลการโหวตชี้ว่าเขาควรลาออกจากตำแหน่งซีอีโอทวิตเตอร์

นักวิเคราะห์ระบุว่า ปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" อาจไม่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปีนี้ ท่ามกลางความกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 281.76 จุด หรือ 0.85% ในวันศุกร์ ส่งผลให้ดิ่งลง 1.66% ในสัปดาห์ที่แล้ว และทรุดตัวลง 4.83% นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.11% ในวันศุกร์ ดิ่งลง 2.08% ในสัปดาห์ที่แล้ว และทรุดตัวลง 5.58% นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ส่วนดัชนี Nasdaq ร่วงลง 0.97% ในวันศุกร์ ดิ่งลง 2.72% ในสัปดาห์ที่แล้ว และทรุดตัวลง 6.65% นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.

"เฟดใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4% ภายในเวลา 9 เดือน ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป" นายเอ็ด โมยา นักกลยุทธ์ด้านการตลาดอาวุโสของบริษัท Oanda ระบุในรายงาน

ส่วนนางซิลเวีย จาบลอนสกี ซีอีโอและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Defiance ETFs กล่าวว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดกำลังเป็นอุปสรรคต่อการเกิดปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" ในปีนี้

"เฟดกำลังปิดถนนขวางทางรถเลื่อนของซานต้า" นางจาบลอนสกีกล่าว

นางจาบลอนสกีระบุว่า ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณอย่างเข้มงวดและชัดเจนว่า เขาไม่มีแผนที่จะชะลอ หรือหันเหทิศทางจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

"เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นและยาวนานขึ้น และนโยบายการเงินจะเข้มงวดกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ตลาดจะถูกกดดันเป็นเวลานานขึ้นจากนโยบายของเฟด แม้มีการดีดตัวขึ้นชั่วคราวขานรับตัวเลข CPI ก่อนหน้านี้ แต่ท่าทีของเฟดจะทำให้ตลาดเผชิญภาวะผันผวนในระยะใกล้" นางจาบลอนสกีกล่าว

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมของตลาด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.3% ในเดือนต.ค.

นอกจากนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ คาดว่าปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 31 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 2555 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นลบ

ก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนมิ.ย.2557 ก่อนที่จะปรับตัวต่ำกว่าระดับดังกล่าวอีกครั้งในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19

การร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นมีสาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และต้นทุนในการก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ