ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งกว่า 200 จุด กังวลว่างงานดีกว่าคาดหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 22, 2022 21:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งลงกว่า 200 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขว่างงานดีกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ณ เวลา 21.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 226 จุด หรือ 0.67% สู่ระดับ 33,343 จุด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 216,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 222,000 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 1.672 ล้านราย

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.2% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.6% และ 2.9% ตามลำดับ

การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการลดลงของตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐ

การเปิดเผยตัวเลข GDP ดังกล่าวช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.3% ในเดือนต.ค.

นอกจากนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ คาดว่าปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ