ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 200 จุด ใกล้หลุด 33,000 กังวลเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 19, 2023 22:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุด ใกล้หลุดระดับ 33,000 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ณ เวลา 22.16 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,085.77 จุด ลบ 211.19 จุด หรือ 0.63%

นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ด้านนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยจะพุ่งขึ้นสูงกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ในขณะนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

"ผมคิดว่าอัตราดอกเบี้ยจะดีดตัวสูงกว่า 5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง และสิ่งนี้จะไม่หายไปอย่างรวดเร็ว" นายไดมอนกล่าวในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเดือนธ.ค.2565 เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2550

หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ