สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (1 ก.ค.) หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายภาษีและการใช้จ่ายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เผชิญกับการขาดดุลงบประมาณ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลแรงงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.05% แตะที่ระดับ 96.822
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.72 เยน จากระดับ 144.20 เยนในวันจันทร์ (30 มิ.ย.) และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.7927 ฟรังก์ จากระดับ 0.7934 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3652 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3625 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1781 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1776 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3738 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3718 ดอลลาร์
วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติด้วยคะแนนเสียงฉิวเฉียด 51 ต่อ 50 ให้การอนุมัติร่างกฎหมายปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมทั้งการใช้จ่ายขนานใหญ่ที่นำเสนอโดยปธน.ทรัมป์ หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายในวันอังคาร โดยวุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก่อนที่จะส่งให้ปธน.ทรัมป์ลงนามเป็นกฎหมายภายในวันที่ 4 ก.ค.
นักลงทุนกำลังประเมินว่าร่างกฎหมายดังกล่าวของทรัมป์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือทำให้รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐฯ (CBO) ออกรายงานเตือนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.2 ล้านล้านดอลลาร์
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวในงานเสวนาซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส เมื่อวานนี้ โดยพาวเวลย้ำว่าเฟดยังคงใช้แนวทางการรอดูและประเมินผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรที่จะมีต่อเงินเฟ้อ ก่อนที่เฟดจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พาวเวลปฏิเสธข้อเรียกร้องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการให้เฟดเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การค้าโลก หลังจากปธน.ทรัมป์ยืนยันว่าเขาไม่มีแผนที่จะขยายระยะเวลาผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศคู่ค้าหลังจากวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายที่เขากำหนดไว้ และรัฐบาลของเขาจะส่งจดหมายแจ้งไปยังประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บกับประเทศดังกล่าว เว้นแต่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 120,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 139,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.3% ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 4.2% ในเดือนพ.ค.