สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (11 ก.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จุดกระแสความตึงเครียดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้งด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาและประเทศคู่ค้ารายอื่น ๆ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% แตะที่ระดับ 97.853
ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นแตะ 147.45 เยนในวันศุกร์ (11 ก.ค.) จาก 146.24 เยนในวันพฤหัสบดี (10 ก.ค.), ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะ 0.7972 ฟรังก์สวิส จาก 0.7971 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 1.3675 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3672 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1689 ดอลลาร์ในวันศุกร์ จากระดับ 1.1692 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี และเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าแตะ 1.3509 ดอลลาร์ จาก 1.3574 ดอลลาร์
ทรัมป์ออกจดหมายเมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (10 ก.ค.) โดยระบุว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาในอัตรา 35% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. และสหภาพยุโรป (EU) จะได้รับจดหมายเกี่ยวกับภาษีในวันศุกร์
ทรัมป์ยังได้เสนอให้เก็บภาษีครอบคลุมในอัตรา 15% หรือ 20% กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราพื้นฐาน 10% ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยสัปดาห์นี้เขาทำให้บราซิลตกใจด้วยการเรียกเก็บภาษี 50% กับสินค้านำเข้า เช่น ทองแดง ยา และชิปเซมิคอนดักเตอร์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ดูเหมือนว่าความวิตกเกี่ยวกับภาษีกำลังกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ทรัมป์เสนอภาษีแบบครอบคลุมเมื่อวานนี้
ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการแข็งค่าราว 2% ซึ่งเป็นการแข็งค่ารายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.
ยูโรอ่อนค่าลง หลังจากทรัมป์ระบุว่า สหภาพยุโรปจะได้รับจดหมายเกี่ยวกับภาษีภายในวันศุกร์ ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่าง EU และสหรัฐฯ
ดอลลาร์แคนาดาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากร่วงลงมากกว่า 0.5% ทันทีที่มีการประกาศภาษีของทรัมป์ ส่วนเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลง 0.26% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดตอบรับต่อภาษีรอบใหม่นี้ค่อนข้างสงบ เมื่อเทียบกับการเทขายรุนแรงหลังคำประกาศ "วันปลดปล่อย" (Liberation Day) เมื่อเดือนเม.ย. แต่บรรยากาศการซื้อขายยังคงเปราะบางจากความไม่แน่นอนของการค้าทั่วโลก และข้อสงสัยว่าเส้นตายวันที่ 1 ส.ค.จะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่
แม้ความกังวลเรื่องภาษีช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์ในระยะสั้น แต่นักลงทุนบางส่วนยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มในระยะกลางของดอลลาร์ ซึ่งเผชิญแรงกดดันการขายอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี
อีกปัจจัยที่ช่วยหนุนดอลลาร์คือ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ลดความคาดหวังเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยในระยะสั้น
ดัชนีดอลลาร์ลดลงเกือบ 10% แล้วตั้งแต่ต้นปี จากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มสะท้อนผลกระทบของนโยบายภาษีมากขึ้นในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นและปิดบวกรายสัปดาห์หลังจากลดลงต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์