สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (22 ก.ค.) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังจากธนาคารชั้นนำอย่างโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากร
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.47% แตะที่ระดับ 97.392
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 146.57 เยน จากระดับ 147.43 เยนในวันจันทร์ (21 ก.ค.), อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.7928 ฟรังก์ จากระดับ 0.7983 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3610 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3681 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1747 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1693 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3527 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3488 ดอลลาร์
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.1% ในปี 2568 เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค
นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับฟิลิปปินส์แล้ว โดยสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ในอัตรา 19% หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ขู่เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% ขณะที่ฟิลิปปินส์จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 0% และจะเปิดตลาดเสรีให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ
ทางด้านสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะพบปะกับรัฐมนตรีคลังของจีนที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายกำหนดเส้นตายการเรียกเก็บภาษีสินค้าจีน จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 12 ส.ค. เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ และจีนยังคงทำการเจรจาข้อตกลงการค้าต่อไป
อย่างไรก็ดี การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ยังคงไม่คืบหน้า โดยรายงานระบุว่าคณะผู้เจรจาการค้าของอินเดียได้เดินทางกลับกรุงนิวเดลีแล้ว หลังใช้เวลาเจรจาเกือบหนึ่งสัปดาห์ในวอชิงตัน และแทบไม่มีความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าได้ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 1 ส.ค. ขณะที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ หากการเจรจาทางการค้าไม่เป็นผลสำเร็จภายในวันที่ 1 ส.ค. และรัฐบาลทรัมป์เดินหน้าตามคำขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU ในอัตรา 30%
เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่าด้วยการทบทวนแบบบูรณาการเกี่ยวกับกรอบเงินกองทุนสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อคืนนี้ตามเวลาไทย โดยพาวเวลกล่าวว่า ธนาคารขนาดใหญ่จำเป็นที่จะต้องมีเงินกองทุนอย่างเพียงพอและมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง และยังกล่าวด้วยว่าธนาคารขนาดใหญ่จำเป็นที่จะต้องแข่งขันกันอย่างเสรี
อย่างไรก็ดี พาวเวลไม่ได้กล่าวถึงนโยบายการเงินของเฟด เนื่องจากเฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน หรือช่วง Blackout Period ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 29-30 ก.ค.