ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์สหรัฐแข็งค่า สถานการณ์อิรักกระตุ้นแรงซื้อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 14, 2014 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (13 มิ.ย.) ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในอิรัก ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น สกุลเงินดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 102.02 เยน จากระดับ 101.67 เยน แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9005 ฟรังค์ จากระดับ 0.8977 ฟรังค์ และแข็งค่าแตะ 1.0855 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.0854 ดอลลาร์แคนาดา

ค่าเงินยูโรปรับตัวลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3533 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3564 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.6970 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6837 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9398 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9423 ดอลลาร์สหรัฐ

รายงานระบุว่า กลุ่มหัวรุนแรงได้บุกเข้ายึดครองเมืองเคอร์คุก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันทางตอนเหนือของอิรัก และได้ยับยั้งงานซ่อมท่อส่งหลักจากแหล่งน้ำมันในเมืองเคอร์คุกไปยังประเทศตุรกี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของตุรกีด้วย

นอกจากสถานการณ์ในอิรักที่หนุนดอลลาร์สหรัฐให้ดีดตัวขึ้นแล้ว ดอลลาร์ยังแข็งค่าเทียบเยน หลังจากนักลงทุนกลับมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติม โดยถึงแม้ธนาคารกลางเพิ่งตัดสินใจคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งล่าสุด แต่นักวิเคราะห์มองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ส่อเค้าอ่อนแอลงในไตรมาสสอง อาจจะกระตุ้นให้บีโอเจตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม

ด้านสกุลเงินปอนด์พุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน จากการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่ผ่านมาว่า ช่วงเวลาห้าปีที่ต้นทุนกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นั้นใกล้ที่จะสิ้นสุดลงแล้ว

นายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษเผยว่า อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังระบุว่า ตนจะเปิดทางให้ธนาคารกลางอังกฤษสามารถควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้

ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์นั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนมิ.ย.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 81.2 จาก 81.9 ในช่วงปลายเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ระดับ 83.0

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. และ 0.5% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนี PPI เดือนพ.ค.จะขยับขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ