ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบค่าเงินหลัก รับความหวังนโยบายทรัมป์กระตุ้นศก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday January 28, 2017 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่า นโยบายต่างๆของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4 ได้สกัดแรงบวกของดอลลาร์ในระหว่างวัน

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 115.08 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 114.41 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9995 ฟรังค์ จากระดับ 0.9992 ฟรังค์

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0696 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0695 ดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2555 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2600 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7551 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7546 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังที่ว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์จะเอื้อประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนภายในประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจและภาคการผลิต และจะช่วยหนุนเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อสกุลเงินดอลลาร์

ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุการไถ่ถอน 5-10 ปี ในการดำเนินการซื้อพันธบัตรในวันนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก

ทั้งนี้ BOJ ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรอายุ 5-10 ปี วงเงินรวม 4.50 แสนล้านเยน (3.92 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.10 แสนล้านเยนในการประมูลครั้งก่อน

BOJ ได้เพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประกาศใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน "yield curve control" ในเดือนก.ย. เพื่อรักษาระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้อยู่ที่ระดับ 0%

ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ Brexit ขณะที่รายงานการวิจัยครั้งใหม่ของดอยซ์แบงก์ระบุว่า เงินปอนด์อาจสูญเสียสถานะการเป็นสกุลเงินในทุนสำรองระดับโลก ทันทีที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

การสูญเสียสถานะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักร เนื่องจากต้องพึ่งพาสถานะที่แข็งแกร่งของปอนด์ในการเป็นทุนสำรอง และการไหลเข้าของเงินทุน เพื่อช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

นักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังจากที่คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ