ดอลลาร์ปรับตัวกรอบบน 110 เยน ขณะรอการเปิดเผยดัชนี CPI สหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 14, 2017 19:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบบนของ 110 เยนในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญ และเป็นสิ่งบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้

ณ เวลา 19.12 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.22% สู่ระดับ 110.71 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.21% สู่ระดับ 131.57 เยน และขยับขึ้น 0.01% สู่ระดับ 1.1886 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.21% สู่ระดับ 92.33

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือนส.ค. จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% อันเนื่องมาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันเบนซิน หลังจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์พัดถล่มรัฐเท็กซัสของสหรัฐ

ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และการคาดการณ์ที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเดินหน้าผลักดันมาตรการปฏิรูปภาษีในปีนี้

ส่วนปอนด์พุ่งขึ้นเทียบดอลลาร์ และยูโรในวันนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

ณ เวลา 18.48 น.ตามเวลาไทย ปอนด์แข็งค่า 0.83% สู่ระดับ 1.3319 ดอลลาร์ และดีดตัวขึ้น 0.76% สู่ระดับ 0.8925 เทียบยูโร

ทั้งนี้ BoE มีมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้

นอกจากนี้ BoE ยังมีมติให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ในภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์

อย่างไรก็ดี BoE ส่งสัญญาณว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

"สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า ถ้าหากเศรษฐกิจมีการปรับตัวสอดคล้องกับการคาดการณ์ในรายงานเงินเฟ้อในเดือนส.ค. ก็จำเป็นต้องมีการคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้" แถลงการณ์หลังการประชุมระบุ

"สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ถ้าหากเศรษฐกิจยังคงปรับตัวสอดคล้องกับแนวโน้มการบรรเทาลงของภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ขณะที่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น การถอนนโยบายกระตุ้นทางการเงินก็มีแนวโน้มที่จะมีความเหมาะสมในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายอย่างยั่งยืน" แถลงการณ์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ