ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก หลังสหรัฐเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 1, 2018 07:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 เม.ย.) หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญนั้น พุ่งขึ้นใกล้แตะระดับเป้าหมายของเฟด

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.29 เยน จากระดับ 109.03 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9879 ฟรังก์ จากระดับ 1.2841 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2081 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2123 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3749 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3784 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7529 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7581 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งขึ้น 2.0% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 1.9% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟด

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และจะปรับขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนเม.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมี.ค., ยอดขายรถยนต์เดือนเม.ย., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ