ดอลลาร์ร่วงวันนี้จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน หลังดีดตัวขึ้นก่อนหน้านี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 3, 2018 23:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์ร่วงลงเทียบเยนและยูโรในวันนี้ จากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากที่ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นก่อนหน้านี้

ณ เวลา 23.22 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.69% สู่ระดับ 109.07 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.49% สู่ระดับ 130.60 เยน และขยับขึ้น 0.19% สู่ระดับ 1.1973 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.04% สู่ระดับ 92.55

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์ได้ดีดตัวขึ้นจนสามารถล้างช่วงติดลบที่ทำไว้ตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางแห่งอื่นๆ จะใช้เวลานานกว่าเฟดในการถอนตัวจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวานนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้ระดับ 2% และการปรับตัวของเศรษฐกิจได้สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 192,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้นเพียง 103,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค.

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมี.ค. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 103,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่ง หลังจากที่พุ่งขึ้น 326,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี และเป็นการทรงตัวที่ระดับดังกล่าวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.0%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 8 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% ในเดือนมี.ค. โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.1% ในเดือนก.พ. และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ