ดอลลาร์อ่อนค่าวันนี้ นักลงทุนกังวลสงครามการค้าสหรัฐ-ประเทศคู่ค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 5, 2018 19:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์อ่อนค่าในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า

ณ เวลา 19.36 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.14% สู่ระดับ 109.65 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.37% สู่ระดับ 127.95 เยน และร่วงลง 0.25% สู่ระดับ 1.1669 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้างิน บวก 0.18% สู่ระดับ 94.19

ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นเหนือ 110 เยนในช่วงแรกจากคำสั่งซื้อของภาคเอกชนญี่ปุ่น แต่ดอลลาร์ได้อ่อนค่าลงในเวลาต่อมาจากแรงขายทำกำไร และความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป (EU), แคนาดา และเม็กซิโก หลังจากที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ก็ประกาศมาตรการตอบโต้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน การเจรจาการค้ารอบที่ 3 ระหว่างสหรัฐและจีนที่จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด

นักลงทุนเกาะติดการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนาย คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อดูว่าที่ประชุมจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือได้หรือไม่

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 12-13 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ในการประชุมดังกล่าว หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่แข็งแกร่ง และการพุ่งขึ้นของค่าจ้างแรงงาน

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนพ.ค. โดยเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 188,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2543 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 8 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนเม.ย. และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ