ยูโรฟื้นตัว หลังดิ่งนิวโลว์ 13 เดือน ตามการทรุดตัวของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 13, 2018 22:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูโรฟื้นตัวขึ้น หลังดิ่งลงแตะ 1.1365 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ตามการทรุดตัวของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ ท่ามกลางวิกฤตค่าเงินตุรกี

นักวิเคราะห์ระบุว่า ยูโรยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการทรุดตัวของค่าเงินลีราของตุรกีที่มีต่อธนาคารยุโรป

ณ เวลา 21.40 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่า 0.05% สู่ระดับ 110.86 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.25% สู่ระดับ 126.68 เยน และขยับขึ้น 0.15% สู่ระดับ 1.1427 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.20% สู่ระดับ 96.17

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราต่อธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส

การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน

นักลงทุนพากันเทขายสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการทรุดตัวของค่าเงินลีราของตุรกี ซึ่งดิ่งลงมากกว่า 40% ในปีนี้ และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ สกุลเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยดิ่งลงมากกว่า 10% ในวันนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 14.51 เทียบดอลลาร์ แต่ก็ยังคงเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559

สกุลเงินรูปีของอินเดียทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 69.62 เทียบดอลลาร์ ก่อนที่จะขยับขึ้นสู่ระดับ 69.695 ตามการฟื้นตัวของลีรา หลังธนาคารกลางตุรกีอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ

ส่วนสกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีในวันนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงิน

ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ในช่วงบ่าย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ก่อนที่ลีราจะลดช่วงติดลบในเวลาต่อมา โดยได้ปัจจัยบวกจากมาตรการของธนาคารกลางตุรกี

ทั้งนี้ ลีราอ่อนค่าลง 3.5% สู่ระดับ 6.6475 เทียบดอลลาร์ หลังจากที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 7.24 เทียบดอลลาร์ก่อนหน้านี้

ลีราได้แรงหนุน หลังจากที่ธนาคารกลางตุรกีประกาศว่า ทางธนาคารกลางจะจับตาตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด รวมทั้งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังได้ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลลีราของธนาคารพาณิชย์ 2.50% ในวันนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลตุรกีมีกำหนดประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในวันนี้ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของค่าเงินลีรา

ลีราดิ่งลงอย่างหนักในวันศุกร์ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอลูมิเนียมอยู่ที่ 20%

การเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีมีขึ้น หลังการเจรจาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐ ประสบภาวะชะงักงัน

ทั้งนี้ สหรัฐเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ซึ่งถูกทางการตุรกีควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในปี 2559

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี ซึ่งส่งผลให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และชาวสหรัฐจะถูกห้ามทำธุรกรรมกับพวกเขา

นอกจากนี้ ค่าเงินตุรกียังถูกกดดัน หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา

ทั้งนี้ ลีราได้ทรุดตัวลงตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง


แท็ก ตุรกี   ยุโรป  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ