ดอลลาร์ปรับตัวแคบในกรอบ 112 เยน ขณะรอการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 17, 2018 20:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์ปรับตัวแคบในช่วงล่างของกรอบ 112 เยน ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 25-26 ก.ย.ในวันนี้

ณ เวลา 20.35 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่า 0.03% สู่ระดับ 112.22 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.28% สู่ระดับ 129.54 เยน และร่วงลง 0.28% สู่ระดับ 1.1541 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.38% สู่ระดับ 95.41

ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นในช่วงแรกต่อเนื่องจากการปรับตัวขึ้นในตลาดเงินนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ รวมทั้งได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ชะลอตัวลงในช่วงบ่าย ขณะที่นักลงทุนไม่ต้องการซื้อขายล็อตใหญ่ก่อนการประชุมสุดยอดของผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ในวันนี้และพรุ่งนี้ โดยที่ประชุมจะมีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU (Brexit)

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐประจำวันที่ 25-26 ก.ย.ในวันนี้ เพื่อหาสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ

ปอนด์อ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์และยูโร หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรที่ลดลงมากกว่าคาดในเดือนก.ย. ซึ่งจะลดแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ

ณ เวลา 20.48 น.ตามเวลาไทย ปอนด์อ่อนค่าลง 0.5% สู่ระดับ 1.3118 ดอลลาร์ และปรับตัวลง 0.17% สู่ระดับ 0.8790 เทียบยูโร

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหราชอาณาจักรลดลงสู่ระดับ 2.4% ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% หลังจากดีดตัวแตะระดับ 2.7% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน

ONS ระบุว่า การร่วงลงของราคาอาหาร เป็นปัจจัยฉุดดัชนี CPI ในเดือนก.ย.

ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI พุ่งแตะระดับ 3.1% ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยการอ่อนค่าของปอนด์ หลังจากที่สหราชอาณาจักรทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เงินเฟ้อทะยานขึ้น

นักวิเคราะห์ระบุว่า การชะลอตัวของดัชนี CPI จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันของธนาคารกลางอังกฤษในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ