ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก เหตุวิตกตลาดหุ้นสหรัฐร่วงหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday October 27, 2018 07:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนัก แม้ในช่วงแรกนั้น ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของสหรัฐที่ขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ก็ตาม ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของตลาดหุ้นส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.83 เยน จากระดับ 112.58 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9969 ฟรังก์ จากระดับ 1.0004 ฟรังก์ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3090 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3078 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1410 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1359 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.2830 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2815 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7093 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7085 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนัก โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 300 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อย่างอเมซอน และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ทั้งนี้ การร่วงลงของตลาดหุ้นได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งระบุว่า GDP ประจำไตรมาส 3 ขยายตัว 3.5% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้เป็นการประมาณการครั้งที่ 1 ของกระทรวงฯ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 98.6 ในเดือนต.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 99.0 หลังจากแตะระดับ 100.1 ในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ