ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลักๆ รับกระแสคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 6, 2018 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.19 เยน จากระดับ 112.81 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9978 ฟรังก์ จากระดับ 0.9974 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3247 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1340 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1341 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2736 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2717 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7264 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7337 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ในปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ ระบุว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองเพิ่มขึ้น 2.0% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 453,100 ดอลลาร์ ลดลงสู่ระดับ 5.08% ในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 5.12% ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ย.จาก ADP,ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 3/2561, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ดุลการค้าเดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนต.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ