ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบยูโร,ปอนด์ นลท.ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเหตุวิตกสงครามการค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2019 07:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1133 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1165 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2623 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2655 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6913 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6922 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.44 เยน จากระดับ 109.47 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0076 ฟรังก์ จากระดับ 1.0079 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3521 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3490 ดอลลาร์แคนาดา

นักลงทุนกังวลว่าผลกระทบของสงครามการค้าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุเตือนสหรัฐเมื่อวานนี้ว่า จีนอาจใช้แร่หายากเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ โดยขณะนี้จีนเป็นประเทศผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแร่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสมาร์ทโฟน และรถยนต์ไฟฟ้า

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทระยะยาว ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.227% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.665% เมื่อคืนนี้

รายงานระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือนอยู่ที่ระดับ 2.36% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี และทำให้เกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว และเป็นการส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 5 ในเดือนพ.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 6 หลังจากอยู่ที่ระดับ 3 ในเดือนเม.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย., การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนเม.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ