ดอลลาร์ถูกกดดัน คาดเฟดลดดอกเบี้ย ขณะกังวลสงครามการค้า,เศรษฐกิจซบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 3, 2019 23:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเทียบเยน ขณะที่ถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า เช่น จีน และเม็กซิโก

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกถ่วงลงจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ

ณ เวลา 22.56 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ขยับขึ้น 0.11% สู่ระดับ 108.38 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.21% สู่ระดับ 121.42 เยน และดีดตัวขึ้น 0.34% สู่ระดับ 1.1205 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.19% สู่ระดับ 97.56

จากการใช้เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 64% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 1 ครั้ง หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 2 ครั้ง ก่อนสิ้นปีนี้

นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งก่อนถึงเดือนธ.ค. ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่คาดการณ์ว่า มีโอกาส 50-50 ที่การดำเนินการครั้งต่อไปของเฟดอาจเป็นการปรับขึ้น หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย

"เราเชื่อว่าหากรัฐบาลทรัมป์ปรับขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกตามที่ระบุไว้ ผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงิน และแม้ว่าสหรัฐจะสามารถทำข้อตกลงการค้ากับเม็กซิโกได้ในไม่ช้า แต่ผลกระทบที่มีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งจะทำให้เฟดต้องดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยอีก ทำให้เราคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 2 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ โดยดำเนินการในเดือนก.ย. และเดือนธ.ค." รายงานระบุ

ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกในอัตรา 5% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. โดยปธน.ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะกดดันให้รัฐบาลเม็กซิโกสกัดการหลั่งไหลของผู้อพยพผิดกฎหมายที่ข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐ

ปธน.ทรัมป์ยังเตือนว่า สหรัฐจะเพิ่มภาษีนำเข้าขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายจากเม็กซิโกจะได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนประสบความล้มเหลวในเดือนที่แล้ว โดยที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ขณะที่สหรัฐได้เพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% ส่งผลให้จีนทำการตอบโต้ ด้วยการเพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.

สหรัฐยังได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อสินค้าจากสหรัฐ และสหรัฐยังได้เตรียมพิจารณาเพิ่มบัญชีรายชื่อบริษัทจีนที่จะถูกขึ้นบัญชีดำ โดยปธน.ทรัมป์กำลังพิจารณาที่จะขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ 5 รายของจีน ซึ่งรวมถึงบริษัท Hikvision Digital Technology และ บริษัท Dahua Technology ด้วยข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 52.6 ในเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัว

การร่วงลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลง ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค.2552 และการจ้างงานมีการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2560 ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในกลางปี 2555

ส่วนผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 52.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต.ค.2559 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะดีดตัวสู่ระดับ 53.0 จากระดับ 52.8 ในเดือนเม.ย.

การปรับตัวลงของดัชนี ISM ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ