ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรอ่อนค่าเทียบดอลล์ หลัง PMI ยูโรโซนซบเซาหนุนคาดการณ์ ECB หั่นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 25, 2019 07:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ก.ค.) หลังจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ ภายหลังจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ร่วงลงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1136 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1149 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2479 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2441 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6976 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7002 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.22 เยน จากระดับ 108.26 เยน แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9857 ฟรังก์ จากระดับ 0.9855 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3143 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3135 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีแนวโน้ม 54% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.10% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่า ECB อาจส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก รวมทั้งการออกมาตรการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ทั้งนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.5 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ที่ระดับ 52.1 จากระดับ 52.2 ในเดือนมิ.ย.

การปรับตัวลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี

นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30-31 ก.ค. รวมทั้งจับตาการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐและจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 30-31 ก.ค.เช่นกัน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ