ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรอ่อนเทียบดอลล์ วิตกภาคการผลิตเยอรมนี-อิตาลีร่วงหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 11, 2020 08:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ก.พ.) หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.ของเยอรมนีทรุดตัวลงหนักสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่มีรายงานว่าภาคการผลิตของอิตาลีร่วงลงในเดือนธ.ค.เช่นกัน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0914 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0946 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2915 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2887 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6679 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6676 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.69 เยน จากระดับ 109.73 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9769 ฟรังก์ จากระดับ 0.9773 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3318 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3299 ดอลลาร์แคนาดา

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีทรุดตัวลง 3.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2552 และบ่งชี้ถึงภาวะอ่อนแอของภาคการผลิต ซึ่งอาจฉุดให้เศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลีรายงานว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.ร่วงลง 2.7% ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันอังคารตามเวลาสหรัฐ และจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพุธตามเวลาสหรัฐ โดยนักลงทุนต้องการหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค., ยอดค้าปลีกเดือนม.ค., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนม.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนธ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ