ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสดใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 27, 2020 07:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากรายงานยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 12 ปี ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาลอังกฤษ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.22 เยน จากระดับ 110.12 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3318 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3271 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.9754 ฟรังก์ จากระดับ 0.9761 ฟรังก์

เงินปอนด์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2912 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3000 ดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6556 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6600 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.0898 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0879 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 7.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 764,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2550 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 710,000 ยูนิต หลังจากแตะระดับ 708,000 ยูนิตในเดือนธ.ค.

ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง ท่ามกลางความกังวลที่ว่า งบประมาณของรัฐบาลอังกฤษอาจสร้างความผิดหวังต่อตลาด เนื่องจากมีการอัดฉีดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าคาด

นายริชี ซูนัค รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ยืนยันว่า เขาจะยื่นงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 11 มี.ค.ตามกำหนด โดยงบประมาณดังกล่าวถือเป็นงบประมาณฉบับแรกของอังกฤษนับตั้งแต่ที่แยกตัวอย่างเป็นทางการออกจากสหภาพยุโรปในเดือนม.ค.

ก่อนหน้านี้ มีความวิตกกันว่ารัฐบาลอังกฤษอาจประสบความล่าช้าในการยื่นงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หลังจากที่นายซาจิด จาวิด ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนม.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ