ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบค่าเงินหลัก รับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสดใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 5, 2020 07:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 มี.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.พ. ขณะที่นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางต่างๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.34 เยน จากระดับ 107.23 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3402 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3373 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9560 ฟรังก์ จากระดับ 0.9570 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1139 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1175 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2868 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2811 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6614 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6595 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนหลังจากออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 183,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 155,000 ตำแหน่ง

ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.3 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว จากระดับ 55.5 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.9

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน โดยดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ โดยมีการขยายตัวเป็นเดือนที่ 121

นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางต่างๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินครั้งนี้ มีขึ้นก่อนการประชุมตามปกติของเฟดที่มีกำหนดในวันที่ 17-18 มี.ค.

นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 4/2562, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ., ยอดนำเข้า,ส่งออก และดุลการค้าเดือนม.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ