ดอลลาร์แข็งค่า หลังคาดโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจโลกนานกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 15, 2020 23:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และมีสภาพคล่องมากที่สุด หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ทรุดตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยในวันนี้ ทำให้นักลงทุนวิตกว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะยืดเยื้อกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้

ณ เวลา 23.09 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.22% สู่ระดับ 107.44 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.47% สู่ระดับ 117.13 เยน และร่วงลง 0.67% สู่ระดับ 1.091 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.73% สู่ระดับ 99.61

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรุดตัวลง 8.7% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2535 และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลง 8.0% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการปิดร้านค้า ขณะที่ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และลดการใช้จ่าย รวมทั้งลดการเดินทาง ซึ่งทำให้ยอดขายของสถานีบริการน้ำมันดิ่งลง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ดิ่งลงแตะระดับ -78.2 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -32.5

นอกจากนี้ ดัชนีภาคการผลิตยังปรับตัวต่ำกว่าระดับ -34.3 ที่ทำไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน

สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านดิ่งลง 42 จุด สู่ระดับ 30 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2555 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นยังได้ทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวในเดือนม.ค.2528

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐดิ่งลง 5.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2489 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ.

การปรับตัวลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสาเหตุจากการที่ห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ