ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก นักลงทุนแห่ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังปธน.เฟดแถลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 14, 2020 07:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและมีสภาพคล่องมากที่สุด หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในช่วงขาลง

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.31% สู่ระดับ 100.24 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9723 ฟรังก์ จากระดับ 0.9689 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4108 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4040 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 106.99 เยน จากระดับ 107.25 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0815 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0854 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2218 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2280 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6440 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6492 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย หลังจากนายพาวเวลกล่าวในการเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (PIIE) เมื่อวานนี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในช่วงขาลง

นายพาวเวลยังระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะขึ้นอยู่กับคำถามมากมายเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เช่น จะใช้เวลานานเท่าใดก่อนที่จะมียารักษา และการยกเลิกมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่หรือไม่ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะกลับมาเมื่อใด

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่แตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐเคยเผชิญในอดีต และสภาคองเกรสควรจะมีบทบาทมากขึ้นในการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวมากกว่าเฟด ด้วยการใช้มาตรการทางภาษี และการใช้จ่ายของรัฐ

ขณะเดียวกัน นายพาวเวลกล่าวยืนยันว่า แม้เฟดใช้เครื่องมือด้านนโยบายจนหมดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่เครื่องมือหนึ่งที่เฟดจะไม่เข้าไปแตะคือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดิ่งลง 1.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค. โดยการร่วงลงของดัชนี PPI ในเดือนเม.ย. ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเงินฝืดในช่วงสั้นๆ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบอุปสงค์

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนพ.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ