ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ปอนด์แข็งเทียบดอลล์ รับความหวังอังกฤษประนีประนอมการค้า EU

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 3, 2020 07:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 มิ.ย.) หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่า อังกฤษจะมีท่าทีประนีประนอมในการเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) ในสัปดาห์นี้

เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2541 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2493 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1171 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1132 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6887 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6798 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.71 เยน จากระดับ 107.59 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9621 ฟรังก์ จากระดับ 0.9617 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3515 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3577 ดอลลาร์แคนาดา

ทั้งนี้ อังกฤษและ EU จะเจรจาการค้ารอบที่ 4 ในสัปดาห์นี้ โดยการเจรจาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้เริ่มขึ้นเมื่อวานนี้ และสิ้นสุดในวันศุกร์ โดยสิทธิในการประมงนอกชายฝั่งอังกฤษจะเป็นประเด็นหลักในการเจรจาสัปดาห์นี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้เจรจาจำนวนหลายร้อยคนในแต่ละฝ่าย

สื่อรายงานว่า อังกฤษจะแสดงความยืดหยุ่นในการเจรจาประเด็นการประมงและการค้า หาก EU ยอมผ่อนคลายกฎระเบียบและการทำการประมงของอังกฤษ

ที่ผ่านมา การเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและ EU ไม่ประสบความคืบหน้า ขณะที่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) จะสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า กิจกรรมภาคธุรกิจในนครนิวยอร์กฟื้นตัวขึ้นในเดือนพ.ค. โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการ หลังจากรัฐบาลสั่งปิดเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ISM ระบุว่า ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กดีดตัวสู่ระดับ 19.5 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 4.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาวะธุรกิจในนิวยอร์ก

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนเม.ย., ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 1/2563 และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ