ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก นลท.แห่ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังโควิดลามในสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 25, 2020 07:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นทั่วสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.51% สู่ระดับ 97.1528 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.94 เยน จากระดับ 106.47 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9478 ฟรังก์ จากระดับ 0.9444 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3611 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3540 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1258 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1312 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2423 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2522 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6867 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6936 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนรุกซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ โดยรายงานระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรัฐฟลอริดาพุ่งขึ้น 5,508 รายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการติดเชื้อในรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15.91% จากเดิมที่ 10.82%

นอกจากนี้ รัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และคอนเนกติกัตมีคำสั่งให้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างรัฐเป็นเวลา 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่รัฐวอชิงตันได้ออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

ทางด้าน Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2,424,493 ราย และมีผู้เสียชีวิต 123,476 ราย โดยขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ