ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลังเฟดตรึงดอกเบี้ยใกล้ 0%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 30, 2020 07:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 ก.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ 0% ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2563 ของสหรัฐในวันนี้

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.23% สู่ระดับ 93.4759 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.03 เยน จากระดับ 105.09 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9138 ฟรังก์ จากระดับ 0.9174 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3364 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3360 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1764 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1721 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2961 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2943 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7161 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% เมื่อวานนี้ ขณะเดียวกัน เฟดยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เฟดมีอยู่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 2/2563 ของสหรัฐในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐจะหดตัวลง 34.1% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 16.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 12.5% หลังจากพุ่งขึ้น 44% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ NAR เริ่มทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนม.ค.2544

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์,ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ