ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า รับความหวังวัคซีนต้านโควิดคืบหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 12, 2020 07:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสภาผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจของเยอรมนี (GCEE) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวลงกว่า 5% ในปีนี้

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.32% แตะที่ระดับ 93.0452 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.45 เยน จากระดับ 105.28 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9172 ฟรังก์ จากระดับ 0.9150 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3070 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3020 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1773 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1813 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3210 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3253 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7274 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7281 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนหลังจากไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech บริษัทยาของเยอรมนี ประกาศว่า ผลการทดลองบ่งชี้ว่าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งทั้งสองบริษัทพัฒนาร่วมกัน มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันไวรัสสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน และบริษัทจะยื่นจดทะเบียนวัคซีนต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะมีการผลิตวัคซีน 50 ล้านโดสภายในปีนี้ และ 1,300 ล้านโดสในปีหน้า

ขณะที่สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง หลังจากสภาผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจของเยอรมนี (GCEE) ออกรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวลง 5.1% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 3.7% ในปีหน้า

GCEE ซึ่งเป็นสถาบันให้คำปรึกษาต่อรัฐบาลเยอรมนี ระบุเตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่นายลาร์ส เฟลด์ ประธาน GCEE กล่าวว่า "พัฒนาการของเศรษฐกิจเยอรมนีจะขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการพัฒนาของเศรษฐกิจในต่างประเทศ"

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ