ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อน นลท.ขายสินทรัพย์ปลอดภัยหลังวัคซีนโควิดคืบหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 2, 2020 07:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และหันไปซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นยูโรและปอนด์ หลังมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.61% แตะที่ 91.3154 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9006 ฟรังก์ จากระดับ 0.9065 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2936 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2962 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 104.40 เยน จากระดับ 104.33 เยน

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2047 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1947 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3416 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3343 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7364 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7352 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 และความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) เพื่อขออนุมัติการจำหน่ายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งหาก EMA ให้การอนุมัติ ก็จะส่งผลให้ไฟเซอร์สามารถใช้วัคซีนดังกล่าวในยุโรปก่อนปลายปีนี้

ทางด้านนายสตีเวน มนูชิน รัฐมเปิดเผยว่า เขาจะหารือกับนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ วงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์ ตามข้อเสนอของวุฒิสภา เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 57.5 ในเดือนพ.ย. จากระดับ 59.3 ในเดือนต.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.0 อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว

ทางด้านเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.7 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2557 จากระดับ 53.4 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI สหรัฐปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนต.ค. หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนก.ย. ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนต.ค.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ย.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนพ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดุลการค้าเดือนต.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ