ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์แข็งค่า หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งทะลุ 1.7%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 19, 2021 07:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.7%

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.48% แตะที่ 91.8579 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.99 เยน จากระดับ 108.82 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9284 ฟรังก์ จากระดับ 0.9220 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2507 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2416 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1914 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1980 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3929 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3949 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7764 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7795 ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 1.742% เมื่อคืนนี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วยหนุนดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้น หลังดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ภายหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 770,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 700,000 ราย โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงสูงกว่าระดับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เคยเกินระดับ 700,000 ราย

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 51.8 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2516 จากระดับ 23.1 ในเดือนก.พ. โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกยังคงมีการขยายตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ