ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเล็กน้อย หลังจนท.เฟดคาดเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 24, 2021 07:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะดีดตัวขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.04% แตะที่ 91.7995 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.96 เยน จากระดับ 110.62 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9183 ฟรังก์ จากระดับ 0.9182 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2303 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2320 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1928 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1936 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3963 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3941 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7573 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7552 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอนแลนตากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งถึง 7% ในปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นเหนือเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ซึ่งจากตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ทำให้เขามองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2565

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าไม่มากนัก เนื่องจากการแสดงความเห็นของนายบอสติกขัดแย้งกับความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด

นายพาวเวลได้แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่าดมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและครอบคลุม และเฟดจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไป

นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัวเป็นวงกว้างจนทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าและการบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และภาวะติดขัดด้านอุปทานที่เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐเริ่มเปิดเศรษฐกิจ หลังจากต้องปิดเศรษฐกิจเป็นเวลานานเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนายพาวเวลเชื่อว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของราคาผู้บริโภคนั้น จะชะลอตัวลงในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 5.9% สู่ระดับ 769,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 870,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และราคาบ้านที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับลดยอดขายบ้านใหม่ในเดือนเม.ย.สู่ระดับ 817,000 ยูนิต จากเดิมรายงานที่ระดับ 863,000 ยูนิต

ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 63.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 68.7 ในเดือนพ.ค.

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564, รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ