ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่า นลท.เทขายสกุลเงินปลอดภัยหลังคลายกังวลโอมิครอน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 23, 2021 07:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งรวมถึงยูโรและเงินปอนด์ หลังคลายกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.41% แตะที่ 96.0888 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9196 ฟรังก์ จากระดับ 0.9238 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2843 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2925 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.17 เยน จากระดับ 114.10 เยน

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1331 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1281 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3359 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3264 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7214 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7154 ดอลลาร์สหรัฐ

ผลการวิจัยครั้งล่าสุดของสถาบันอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนซึ่งระบุว่า ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มีน้อยกว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาประมาณ 40% - 45% โดยรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิจัยของสถาบันโรคติดต่อของแอฟริกาใต้ และสถาบันสาธารณสุขของสก็อตแลนด์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.3% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่สองที่ระดับ 2.1%

สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวขึ้น 1.9% สู่ระดับ 6.46 ล้านยูนิตในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน แต่น้อยกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 6.52 ล้านยูนิต

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ