ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า รับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยเดือนมี.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 5, 2022 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (4 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าเพียงเล็กน้อยเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้สกัดแรงบวกของดอลลาร์ในระหว่างวัน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.06% แตะที่ 96.2007 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 116.11 เยน จากระดับ 115.29 เยน แต่ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9162 ฟรังก์ จากระดับ 0.9181 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2705 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2747 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1289 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1297 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3535 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3483 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7241 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7190 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก และไม่ส่งผลให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.

ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.พ.

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้สกัดแรงบวกของดอลลาร์ โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 58.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 60.1 จากระดับ 61.1 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์และคำสั่งซื้อใหม่

ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 529,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.6 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 11.075 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนธ.ค.ในวันศุกร์นี้ เวลาประมาณ 20.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของวอชิงตันโพสต์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค.ของสหรัฐจะพุ่งขึ้น 362,000 ตำแหน่ง ซึ่งแข็งแกร่งกว่าเดือนพ.ย.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 210,000 ตำแหน่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ