ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังพาวเวลส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 1, 2022 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ ( พ.ย.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.82% แตะที่ 105.9470

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 137.99 เยน จากระดับ 138.65 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9455 ฟรังก์ จากระดับ 0.9537 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3443 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3585 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5042 โครนา จากระดับ 10.5868 โครนา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0414 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0331 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2055 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1950 ดอลลาร์

นายพาวเวลได้กล่าวปาฐกถาว่าด้วยนโยบายการเงินและการคลัง ที่สถาบันบรู้กกิงส์เมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันก็เตือนว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นยังอีกยาวไกล และยังมีคำถามสำคัญหลายอย่างที่เฟดยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงคำถามที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องถูกปรับขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่เท่าใดและใช้ระยะเวลานานเท่าใด

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เราจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อเราได้ปรับขึ้นไปจนถึงระดับที่เรามั่นใจว่ามีศักยภาพมากพอที่จะฉุดเงินเฟ้อให้อ่อนแรงลง สำหรับช่วงเวลาที่จะเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงการประชุมเดือนธ.ค." นายพาวเวลกล่าว

ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า หลังจากนายพาวเวลส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในงานเสวนาดังกล่าวแล้ว นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 25% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. เทียบกับช่วงก่อนที่นายพาวเวลแถลงที่นักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 75%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลง 353,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.3 ล้านตำแหน่งในเดือนต.ค. โดยตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ขณะที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 127,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง หลังจากพุ่งขึ้น 239,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค.

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.9% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ 2.6% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7%

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนพ.ย.จะทรงตัวที่ระดับ 3.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ