ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงเทียบเยน หลัง BOJ ปรับนโยบายการเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 21, 2022 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (20 ธ.ค.) หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมเมื่อวานนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.69% แตะที่ระดับ 104.0110

ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 131.58 เยน จากระดับ 136.97 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9266 ฟรังก์ จากระดับ 0.9303 ฟรังก์

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3610 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3666 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.4374 โครนา จากระดับ 10.4031 โครนา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0617 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0603 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2162 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2142 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงเมื่อเทียบกับเงิน หลังจากคณะกรรมการ BOJ ได้ตัดสินใจขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินตามทิศทางธนาคารกลางทั่วโลก

อย่างไรก็ดี นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เพื่อปรับปรุงกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 0.5% ในเดือนพ.ย. สู่ระดับ 1.427 ล้านยูนิต แต่การอนุญาตก่อสร้างบ้านดิ่งลง 11.2% สู่ระดับ 1.342 ล้านยูนิตในเดือนพ.ย.

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2565, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ