ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 5, 2023 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (4 ม.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่าควรจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.24% แตะที่ระดับ 104.2430

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9295 ฟรังก์ จากระดับ 0.9351 ฟรังก์ ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3452 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3659 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5026 โครนา จากระดับ 10.5450 โครนา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.58 เยน จากระดับ 130.76 เยน

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0605 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0566 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2060 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1988 ดอลลาร์

คณะกรรมการเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. 2565 โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าข้อมูลที่เฟดได้รับมานั้น เป็นหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอว่าเงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี กรรมการทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าเฟดควรจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเมื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่จะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 48.4 ในเดือนธ.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.5 จากระดับ 49.0 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 2 เนื่องจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในตลาด

ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 54,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.458 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ย. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.0 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ